ข้อบังคับสมาคม

ข้อบังคับ
ของ
สมาคมหมออนามัย  หมวดที่ ๑ ความทั่วไป

 

ข้อ ๑. สมาคมนี้มีชื่อว่า สมาคมหมออนามัย ย่อว่า ส.อ.ม.

เรียกเป็นภาษาอังกฤษ Association of Mohanamai

ข้อ ๒. เครื่องหมายของสมาคม

เป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายจักร ๕ แฉก ที่สื่อถึงการหมุนและรวมพลัง จาก ๕ ภาค และมีรูปคน ๔ คนอยู่ตรงกลาง ความหมายว่า ภาพ ๔ คนที่อยู่ตรงกลางจับมือกันเป็นวงกลม แสดงถึงมิติของสุขภาพที่ประกอบด้วยกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ขับเคลื่อนหมุนเป็นวงกลม ขยายใหญ่ขึ้นในสีสันต่างๆ ๕ สี หมายถึง การรวมพลังของหมออนามัยทั้ง ๕ ภาคที่อยู่ทั่วประเทศ ร่วมกันขับเคลื่อนเป็นพลัง เป็นพลวัตการสร้างสุขภาพด้วยความหลากหลาย

 ข้อ ๓. สำนักงานของสมาคม ตั้งอยู่ ณ สำนักงานวารสารหมออนามัย สถาบันพระบรมราชชนก ตึก ๔ ชั้น๗ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข หรือ เลขที่ ๘๘/๒๐ หมู่ ๔ ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ๑๑๐๐๐

 ข้อ ๔. วัตถุประสงค์ของสมาคม เพื่อ

  • ๔.๑ ส่งเสริมความสามัคคี และเกียรติคุณของวิชาชีพหมออนามัย
  • ๔.๒ เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ และความคิดเห็นระหว่างมวลสมาชิก และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์กร หน่วยงาน และประชาชน
  • ๔.๓ พัฒนาวิชาชีพหมออนามัย ด้านบริหาร การบริการ และวิชาการ
  • ๔.๔ ช่วยเหลือสมาชิกด้านสวัสดิการตามที่สมาคมกำหนดไว้
  • ๔.๕ ช่วยเหลือกิจการสาธารณกุศล และสังคมสงเคราะห์ตามโอกาสอันควร

 หมวดที่ ๒ สมาชิก

ข้อ ๕. สมาชิกของสมาคมมี ๒ ประเภท คือ

  • ๕.๑ สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงาน หรือเคยปฏิบัติงานในสถานีอนามัย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล หรือหน่วยงานอื่นหรือบุคคลที่มีความประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ซึ่งคณะกรรมการสมาคมลงมติให้รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมได้
  • ๕.๒ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติหรือทรงคุณวุฒิ บุคคลที่อุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่วิชาชีพของหมออนามัย หรือผู้มีอุปการะคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการลงมติให้เรียนเชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม

 ข้อ ๖. สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

  • ๖.๑ มีคุณสมบัติ ตามข้อ ๕.๑
  • ๖.๒ เป็นผู้มีความประพฤติไม่เสียหาย
  • ๖.๓ ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
  • ๖.๔ ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุกยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดในกรณีดังกล่าว จะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก หรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น

 ข้อ ๗. ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคม

  • ๗.๑ สมาชิกสามัญจะต้องเสียค่าลงทะเบียนครั้งแรก ๑๐๐ บาท
  • ค่าบำรุงรายปี ๆ ละ ๑๐๐ บาท
  • หรือตลอดชีพ ๑,๐๐๐ บาท
  • ๗.๒ สมาชิกกิตติมศักดิ์ มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมแต่อย่างใดทั้งสิ้น

 ข้อ ๘. การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อเลขานุการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย ๑ คน และให้เลขานุการติดประกาศรายชื่อผู้สมัครไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน เพื่อให้สมาชิกอื่น ๆ ของสมาคมจะได้คัดค้านการสมัครนั้น เมื่อครบกำหนดประกาศแล้วให้เลขานุการ นำใบสมัครและหนังสือคัดค้านของสมาชิก (ถ้ามี) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาอนุมัติว่า จะรับหรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมและเมื่อคณะกรรมการพิจารณาการสมัครแล้วผลเป็นประการใด ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว

ข้อ ๙. ถ้าคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก แล้วให้ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าลงทะเบียน

และค่าบำรุงสมาคมให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขานุการ และสมาชิกภาพของผู้สมัคร ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงภายในกำหนด ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก

ข้อ ๑๐. สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับหนังสือตอบรับคำเชิญ ของผู้ที่

คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้เรียนเชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมได้มาถึงสมาคม

ข้อ ๑๑. สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้

  • ๑๑.๑ ตาย
  • ๑๑.๒ ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อย
  • ๑๑.๓ ขาดคุณสมบัติของการเป็นสมาชิก
  • ๑๑.๔ ที่ประชุมใหญ่ของสมาคม หรือคณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนเพราะสมาชิกผู้นั้นได้ประพฤติตนนำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม

 ข้อ ๑๒. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

  • ๑๒.๑ มีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของสมาคมโดยเท่าเทียมกัน
  • ๑๒.๒ มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ
  • ๑๒.๓ มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
  • ๑๒.๔ มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม
  • ๑๒.๕ สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคมและมีสิทธิออกเสียงลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมได้คนละ ๑ คะแนนเสียง
  • ๑๒.๖ มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม
  • ๑๒.๗ มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย ๑ ใน ๕ ของสมาชิกสามัญทั้งหมด หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
  • ๑๒.๘ มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด
  • ๑๒.๙ มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม
  • ๑๒.๑๐ มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของสมาคม
  • ๑๒.๑๑ มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
  • ๑๒.๑๒ มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

 หมวดที่ ๓ การดำเนินการสมาคม

ข้อ ๑๓. ให้มีกรรมการคณะหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคม มีจำนวนอย่างน้อย ๑๕ คน อย่างมากไม่เกิน ๒๑ คน คณะกรรมการนี้ ได้มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม และให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งกรรมการเป็นนายกสมาคม ๑ คนและอุปนายก ๒ คน สำหรับตำแหน่งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ให้นายกเป็นผู้แต่งตั้งที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ ของสมาคมตามที่กำหนดไว้ ซึ่งตำแหน่งของกรรมการสมาคมมีตำแหน่งและหน้าที่ โดยสังเขปดังต่อไปนี้

  • ๑๓.๑ นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคม เป็นผู้แทนสมาคม ในการติดต่อกับบุคคลหรือองค์กรภายนอก และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการและการประชุมใหญ่ของสมาคม
  • ๑๓.๒ อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการสมาคมปฏิบัติตาม หน้าที่ที่นายกสมาคมได้มอบหมาย และทำหน้าที่แทนนายกสมาคม เมื่อนายกสมาคมไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคมให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน
  • ๑๓.๓ เลขานุการ มีหน้าที่ติดต่อกับสมาชิก และบุคคลภายนอกของสมาคม นัดหมายการประชุม บันทึกการประชุม เสนอรายงาน แสดงถึงกิจการของสมาคมต่อที่ประชุมใหญ่ประจำปีและกิจการอื่น ๆ ตามที่นายกสมาคม หรือคณะกรรมการบริหารมอบหมาย
  • ๑๓.๔ เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับ รายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาคม และเก็บเอกสาร หลักฐานต่าง ๆ ของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ
  • ๑๓.๕ ปฏิคม มีหน้าที่ให้การต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคม และจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่าง ๆ ของสมาคม
  • ๑๓.๖ นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคม ประสานงานกับเหรัญญิก ในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก
  • ๑๓.๗ ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการ ชื่อเสียงของวิชาชีพ และเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
  • ๑๓.๘ กรรมการตำแหน่งอื่น ตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้น โดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้น แล้วจะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้แต่ถ้าคณะกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่งให้ถือว่า เป็นคณะกรรมการกลางคณะกรรมการชุดแรก ให้ผู้เริ่มการจัดตั้งสมาคมเป็นผู้ได้เลือกตั้งประกอบด้วยนายกสมาคมและกรรมการอื่น ๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับของสมาคม

 ข้อ ๑๔. คณะกรรมการของสมาคมสามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ ๒ ปี และเมื่อคณะกรรมการอยู่ครบกำหนดตามวาระแล้วแต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการแล้วให้คณะกรรมการที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางจนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ ก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่า และคณะกรรมการชุดใหม่ให้เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ

 ข้อ ๑๕. ตำแหน่งกรรมการสมาคม ถ้าว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกผู้ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ตามลำดับรองลงไปแทน ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น

 ข้อ ๑๖. กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ

  • ๑๖.๑ ลาออก
  • ๑๖.๒ ขาดจากสมาชิกภาพ ตามข้อ ๑๑
  • ๑๖.๓ ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง

 ข้อ ๑๗. กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการและให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติให้ออก

 ข้อ ๑๘. อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ

  • ๑๘.๑ มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้น จะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
  • ๑๘.๒ มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม
  • ๑๘.๓ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง
  • ๑๘.๔ มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
  • ๑๘.๕ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่น ที่มิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
  • ๑๘.๖ มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
  • ๑๘.๗ มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงินและทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม
  • ๑๘.๘ มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญจำนวน ๑ ใน ๕ ของสมาชิกทั้งหมดหรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน ได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้การประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
  • ๑๘.๙ มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับคดี ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้ เมื่อสมาชิกร้องขอ
  • ๑๘.๑๐ จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆ ของสมาคมเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิกได้รับทราบ
  • ๑๘.๑๑ มีหน้าที่อื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

ข้อ ๑๙. คณะกรรมการจะต้องประชุมกันอย่างน้อย ๒ เดือน / ครั้ง โดยให้จัดขึ้นไม่เกินวันสิ้นเดือนของเดือนนั้นทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม

ข้อ ๒๐. การประชุมคณะกรรมการจะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึงจะถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด 

ข้อ ๒๑. ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น 

หมวดที่ ๔ การประชุมใหญ่

ข้อ ๒๒. การประชุมใหญ่ของสมาคมมี ๒ ประเภท คือ

  • ๒๒.๑ ประชุมใหญ่สามัญ
  • ๒๒.๒ ประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ ๒๓. คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีๆ ละ ๑ ครั้ง (ภายในเดือนธันวาคม ของทุกปี)

ข้อ ๒๔. การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๕ ของสมาชิกสามัญทั้งหมดหรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดให้มีขึ้น 

ข้อ ๒๕. การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งให้สมาชิกทราบเป็นลายลักษณ์อักษรโดยระบุวัน เวลาและสถานที่ให้ชัดเจน ได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วัน และประกาศแจ้งไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๗ วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุม 

ข้อ ๒๖. การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จำต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้

  • ๒๖.๑ แถลงกิจการที่ผ่านในรอบปี
  • ๒๖.๒ แถลงบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
  • ๒๖.๓ เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เมื่อครบกำหนดวาระ
  • ๒๖.๔ เรื่องอื่นๆ ถ้ามี

ข้อ ๒๗. ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญ เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมดหรือไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุม ยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการของสมาคมเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน ๑๔ วัน นับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรกสำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้ถ้ามีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใดก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม เว้นแต่เป็นการประชุมใหญ่สามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิก โดยไม่ต้องจัดประชุมใหญ่ ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก

 ข้อ ๒๘. การลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

 ข้อ ๒๙. ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุมหรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม

 หมวดที่ ๕ การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ ๓๐. การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของสมาคมถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคารที่รัฐบาลเป็นประกัน หรือกระทำการอื่นใดตามมติคณะกรรมการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม

ข้อ ๓๑. การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อของ นายกสมาคม หรือผู้ทำการแทนลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือเลขานุการ พร้อมกับประทับตราของสมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้

 ข้อ ๓๒. ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ และคณะกรรมการจะอนุมัติให้จ่ายเงินครั้งละไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) หากมีความจำเป็นต้องจ่ายเงินเกินกว่าที่กำหนด ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม

ข้อ ๓๓. ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท (เงินหนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้ จะต้องนำฝากธนาคารให้บัญชีของสมาคมทันทีภายใน 3 วันทำการ

ข้อ ๓๔. เหรัญญิกจะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลให้ถูกต้องตามหลักวิชาการการรับหรือจ่ายเงินทุกครั้งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิกหรือผู้ทำการแทน พร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง

ข้อ ๓๕. ผู้สอบบัญชีต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมและจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีได้รับอนุญาต 

ข้อ ๓๖. ผู้สอบบัญชี มีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงิน และทรัพย์สินจากคณะกรรมการและสามารถจะเชิญกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับ บัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้ 

ข้อ ๓๗. คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชีเมื่อได้รับการร้องขอ 

หมวดที่ ๖ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

ข้อ ๓๘. ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ๒ ทาง คือ

  • ๓๘.๑ คณะกรรมการบริหารเห็นสมควรให้แก้ไข เพื่อความเหมาะสมในการดำเนินกิจการของสมาคม และเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ปัจจุบันของสังคม  ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องกำหนดเวลา
  • ๓๘.๒ ที่ประชุมใหญ่โดยมติ ๒ ใน ๓ ของสมาชิกสามัญที่เข้าประชุมทั้งหมดหรือไม่น้อยกว่า ๑๒๐ คน เห็นสมควรให้แก้ไข

ข้อ ๓๙. การเลิกสมาคม จะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิก เพราะเหตุของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า ๓๐๐ คน

ข้อ ๔๐. เมื่อสมาคมต้องเลิกไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ตกเป็นของมูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย(ผู้รับต้องมีฐานะเป็นนิติบุคคล ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณะประโยชน์)

 หมวดที่ ๗ เบ็ดเตล็ด

ข้อ ๔๑. ผู้จัดการสำนักงานสมาคม เพื่อให้งานของสมาคมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและต่อเนื่องจึงเห็นสมควรให้มีผู้จัดการสำนักงานสมาคม ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานช่วยเลขานุการบันทึกการประชุมและงานอื่น ตามที่ได้รับมอบหมาย 

หมวดที่ ๘ บทเฉพาะกาล

ข้อ ๔๒. ข้อบังคับฉบับนี้นั้นให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป

ข้อ ๔๓. เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญ

สมาคมหมออนามัย (Association of Mohanamai)
สถาบันพระบรมราชชนก ตึก 4 ชั้น 7 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง  จังหวัด นนทบุรี 11000
 โทร.02-590-1946